ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน
ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 41 พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิต และความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก
เรื่องย่อ
เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ- สยามบรมราชกุมารีได้ทรงยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนาต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีนเมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาเท่าที่ควร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์ และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอบทกวีที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองท่าน มีแนวความคิดที่คล้ายกัน คือมุ่งที่จะกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนาและทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย
ข้อคิดที่ได้รับ
1. ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวนาที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ
2. ทำให้ได้รู้ถึงความทุกข์ยากความลำบากของชาวนาในการปลูกข้าว
3. ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าของข้าวที่ได้รับประทานเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์
ความรู้เพิ่มเติม
บทความ หมายถึง รูปแบบการเขียนประเภทหนึ่ง ที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้อ่าน โดยเนื้อหานำเสนอจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องแต่งหรือคิดขึ้นเองจากจินตนาการ บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป จะมีเนื้อหาหลายลักษณะ เช่น หยิบยกปัญหาเหตุการณ์ หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจมาแสดงความคิดเห็น หรือผู้เขียนเสนอความคิดเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านหรือทั้งสนับสนุนและคัดค้านความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันของคนอื่นๆ เป็นต้น
วิเคราะห์วิจารณ์
การแต่งทุกข์ของชาวนาในบทกวีนับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็น-แบบอย่างได้ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน เนื้อเรื่องวิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และองหลี่เชิน โดย ทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิง วรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีนว่า เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือหลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
สรุป
พระราชนิพนธ์เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา อันเปี่ยมล้น-ของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย